เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

[193] เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย1 สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ

จูฬศีล

[194] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
2. ภิกษุละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับ
เอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็น
คนสะอาดอยู่
3. ภิกษุละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหม-
จรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
4. ภิกษุละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความ
สัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
5. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่
ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่
มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

เชิงอรรถ :
1 อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที.สี.อ. 193/164)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :65 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

6. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
7. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
8. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
9. ภิกษุฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล
10. ภิกษุเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
11. ภิกษุเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวง
ดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
12. ภิกษุเว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
13. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
14. ภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
15. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
16. ภิกษุเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
17. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
18. ภิกษุเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
19. ภิกษุเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
20. ภิกษุเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
21. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน
22. ภิกษุเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
23. ภิกษุเว้นขาดจากการซื้อขาย
24. ภิกษุเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :66 }